คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) คืออะไร ? ทำไมหลายประเทศให้ความสำคัญ

คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) คืออะไร ? ทำไมหลายประเทศให้ความสำคัญ

ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นเป้าหมายหลักของหลายประเทศ ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่เห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ผิดจากปกติ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกทั้งจากปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ที่มักพบเห็นได้บ่อยขึ้น แนวทางการแก้ไขที่สำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านความร่วมมือในระดับสากล หนึ่งในนั้นคือมาตรการ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit)

บทความนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันว่าเครื่องมือสำคัญอย่างคาร์บอนเครดิตและ Carbon Market ที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ในบริบทการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แท้จริงแล้วคืออะไร มีความสำคัญแค่ไหนในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) คืออะไร

คาร์บอนเครดิต หรือ Carbon credit คือ ส่วนต่างของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งมีปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันที่กักเก็บหรือไม่ถูกปล่อยออกมา หรือมีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” (tCO2eq) ซึ่งคาร์บอนเครดิตเปรียบเสมือนมาตรการที่ใช้จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องไปกับข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างอย่างเช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement)

สำหรับแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตนั้นถูกพูดถึงครั้งแรกในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 1997 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ภายใต้พิธีสารดังกล่าวได้มีการกำหนดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญไว้ 6 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ และคิดเทียบเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นภาคบังคับสำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 1990

ขณะที่ความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 2015 โดยประเทศสมาชิกตั้งเป้าร่วมกันในการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสและพยายามรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยจะเป็นความร่วมมือของทุกประเทศและไม่จำกัดเพียงแค่ประเทศพัฒนาแล้วเหมือนกับในพิธีสารเกียวโต

ประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีสโดยได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสไปเมื่อปี 2016 และได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ให้ได้ภายในปี 2030

และนับตั้งแต่นั้นมาในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศหลายฉบับก็ได้มีการปรับใช้กฎระเบียบที่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะ Paris Agreement ที่กำหนดให้การซื้อขายคาร์บอนเป็นแนวทางหลักที่ใช้ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก โดยได้มีการระบุถึงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

นั่นหมายความว่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อีกประเทศเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งกลไกคาร์บอนเครดิตภายใต้ Paris Agreement จะเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเอื้อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.คาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากโครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Avoidance Projects) และ 2.คาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากโครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Removal Projects)

โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีตั้งแต่การวางแผนการจัดการป่าไม้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่ออกสู่ชั้นบรรยากาศ หรือการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง ไปจนถึงการจัดการขยะหรือของเสียเพื่อลดมลพิษ และลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ส่วนคาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากโครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จะเป็นการใช้เทคโนโลยีดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น เทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) ที่คาร์บอนจะถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการทางเคมี และ Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) กระบวนการดักจับคาร์บอนได้ออกไซด์เพื่อกักเก็บไว้หรือนำมาแปลงเป็นเมทานอล

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการกำจัดคาร์บอนตามธรรมชาติผ่านการปลูกต้นไม้ หรือฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อเป็นการสร้างและรักษาแหล่งดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งโครงการทั้งสองประเภทที่ได้รับการรับรองจะสามารถสร้างคาร์บอนเครดิตที่นำไปใช้ซื้อขายได้ และสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทย คือ “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.” ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ตามคาร์บอนเครดิตไม่มีได้มีประโยชน์แค่ในมิติที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือช่วยบรรเทาความรุนแรงของภาวะโลกร้อนเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยสร้างรายได้ เพราะคาร์บอนเครดิตสามารถนำไปซื้อขายได้ในตลาดคาร์บอน (Carbon Market) และยังช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

แล้วแต่ละฝ่ายที่มีส่วนในกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

สำหรับผู้ซื้อ

การซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตรวจสอบได้สำหรับองค์กรในการชดเชยการปล่อยคาร์บอน โดยคาร์บอนเครดิตจะแสดงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการที่ยั่งยืน และนอกจากจะเป็นการชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับองค์กรต่าง ๆ แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในฐานะส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ยังเป็นการบรรเทาความเสี่ยงจากกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงข้อกำหนดด้านกฎระเบียบในอนาคต อย่างในปัจจุบันที่มีมาตรการ “ภาษีคาร์บอน” ที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการหรือองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ และยังมีภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนที่เรียกเก็บกับผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีมาตรการภาษีคาร์บอน แน่นอนว่าองค์กรที่มีการเตรียมพร้อมในการจัดการกับปริมาณคาร์บอนจะสามารถรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้ดีกว่าองค์กรที่ไม่มีข้อมูลใดเลย

สำหรับผู้ขาย

ประโยชน์ข้อแรกขององค์กรที่สามารถจัดการกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตให้กับองค์กรอื่นคือ “รายได้” ที่มาจากการขายคาร์บอนเครดิต ตามข้อมูลของ Morgan Stanley ได้มีการคาดการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตที่จะเติบโต 50 เท่าภายในทศวรรษเดียว โดยมูลค่าตลาดคาร์บอนเครดิตโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มจากราว 2 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท) ในปี 2022 ขึ้นมาเป็นเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2030 และอาจสูงถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 8.8 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2050

อย่างไรก็ตามแม้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะระบุว่าในปัจจุบันการขายคาร์บอนเครดิตอาจทำกำไรยากเพราะยังมีต้นทุนที่ต้องใช้ในกระบวนการตรวจสอบรับรอง แต่อีกหนึ่งผลประโยชน์ที่ผู้ขายคาร์บอนเครดิตจะได้รับ คือ การประหยัดจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน และประสิทธิภาพของอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานน้อยลง นอกจากนี้ คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ยังสามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าโครงการคาร์บอนเครดิตอื่น ๆ อีกด้วย

เห็นได้ชัดจากโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้จำนวน 400 ตันคาร์บอนที่ได้รับการรับรองปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิต โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น ในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ราว 840,000 บาท เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกต้นไม้และเป็นทางเลือกให้องค์กรบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับนักลงทุน

สำหรับนักลงทุนรายย่อยอาจเก็งกำไรจากราคาคาร์บอนเครดิตได้ผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงและเหมาะสำหรับนักลงทุนสถาบันมากกว่า อีกหนึ่งทางเลือกจึงอาจเป็นการลงทุนกับบริษัทที่พยายามลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ตลอดจนกองทุนรวมและ ETF ที่ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตหรือบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยเน้นลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหรือเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนโดยตรงซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน

และข้อดีสำคัญของการลงทุนในคาร์บอนเครดิตคือนักลงทุนจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านกระจายเงินทุนแก่บริษัทหรือภาคส่วนที่พยายามอย่างหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่การหลีกเลี่ยงการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้หลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับโลกอย่างยั่งยืน

ตลาดคาร์บอน (Carbon market)

ตลาดคาร์บอน (Carbon market) คือ ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกตลาด (Market-based Mechanism) ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ตลาดคาร์บอนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองฑ์ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตจากองค์กรที่มีโครงการกำจัดหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้แนวคิดในการกำหนดราคาสำหรับการปล่อยคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับผู้ที่สร้างมลพิษให้กับโลก

และตลาดคาร์บอนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เป็นผลกระทบมาจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ และสะสมในชั้นบรรยากาศจนทำให้สภาพอากาศของโลกแปรปรวน และหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือและงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินงาน หลายประเทศจึงหันไปพึ่งพาตลาดคาร์บอนเพื่อเป็นวิธีการไปสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

สำหรับในประเทศไทย ตลาดคาร์บอนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ หรือ Voluntary Carbon Market คือ กลไกลที่ประเทศไทยใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ “T-VER” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภายใต้ความดูแลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ “Project Base” 

โดยในปี 2023 ที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจประเทศไทยจากโครงการ T-VER อยู่ที่ 68,321,090 บาท และมีปริมาณทั้งสิ้น 857,102 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

Source: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ

ขณะที่ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ หรือ Mandatory Carbon Market จะเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้โดยภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแล โดยภาคธุรกิจจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้ และหากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมามีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้จึงจะสามารถนำส่วนต่างที่มีไปขายต่อให้กับองค์กรอื่น ผ่านระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) หรือระบบ Cap and Trade

ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้จะเรียกว่า สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) โดยจะใช้เพื่อกำกับดูแลองค์กรขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก และหากปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จำเป็นจะต้องไปซื้อสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ และจะมีบทลงโทษสำหรับองค์กรที่ไม่ปฎิบัติตามข้อบังคับ ตัวอย่างประเทศที่ใช้กลไกลตลาดคาร์บอนภาคบังคับอย่างเช่น กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

มาตราการที่จะเกิดขึ้นกับอุตสหกรรมในอนาคต

ด้วยความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อนผ่านการปรับใช้มาตรการต่าง ๆ และเพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมกันอย่างจริงจัง

สำหรับมาตรการที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหรกรรมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคต ได้แก่

CBAM

CBAM ย่อมาจากคำว่า “Carbon Border Adjustment Mechanism” หมายถึง มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปผ่านการกำหนดราคานำเข้าสินค้าบางรายการ ซึ่งจะเรียกเก็บกับผู้นำเข้าที่ไม่มีมาตรการลดคาร์บอน เพื่อป้องกันผู้นำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากนำเข้าสินค้าเข้าไปในเขตสหภาพยุโรปซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปีที่ผ่านมา

โดยมุ่งเป้าไปที่สินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง (carbon intensive products) 6 กลุ่มแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ไฮโดรเจน ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม ผ่านการดำเนินมาตรการ CBAM ที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (2023-2025): ช่วงเปลี่ยนผ่านที่มาตรการจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ผู้นำเข้าสินค้าคาร์บอนสูงจำเป็นจะต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง
  • ระยะที่ 2 (2026-2034): ช่วงบังคับใช้ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากสินค้านำเข้า และต้องมี “CBAM Certificate” ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาสำหรับผู้ประกอบการ
  • ระยะที่ 3 (2035): ช่วงบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ และยกเลิกสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่าของภาคอุตสาหกรรม ระยะนี้หลายประเทศจะเริ่มทยอยเก็บภาษีคาร์บอน

พ.ร.บ. Climate Change ของไทย

สำหรับมาตรการที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในกลไกลภาคบังคับเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เร็วที่สุดภายในเดือนตุลาคม 2024 ขณะที่ พ.ร.บ. Climate Change ของไทยที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2029

โดยร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change จะเอื้อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจำนวน 14 อุตสาหกรรม มูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 37% ของ GDP จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นในกระบวนการประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบภาษีคาร์บอน

ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้ระบุถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับภาคการเกษตร และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมไปกับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนซึ่งจะนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

Green Technology ที่สามารถช่วยคุณลดการปล่อยคาร์บอน

เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่าง Green Technology ที่มีบทบาทสำคัญ เช่น

Smart Farm

เทคโนโลยี Smart Farm เพื่อช่วยให้การเกษตรมีความแม่นยำและให้ผลผลิตที่น่าพึงพอใจ ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตร เนื่องจาก Smart Farm เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน และตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มากขึ้น

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ใช้ใน Smart Farm มีทั้งการใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง คุณภาพดิน ช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น การใช้โดรนเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยรดน้ำ หว่านเมล็ด พ่นปุ๋ย แทนการใช้แรงงานคน และยังมีประโยชน์กับการใช้งานในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงได้อีกด้วย

Add Your Heading Text Here

Green Hydrogen หรือไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในกระบวนการผลิต จึงเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเหมาะกับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง

ซึ่ง Green Hydrogen ถือเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับพลังงานสะอาด โดยช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นพลังงานสะอาดที่เหมาะอย่างยิ่งในการช่วยให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จ

สรุป

องค์กรต่าง ๆ ตลอดจนภาคประชาชนควรเริ่มต้นทำความเข้าใจกลไกคาร์บอนเครดิตตั้งแต่วันนี้ เพราะประเด็นคาร์บอนเครดิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อโลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน มาตรการต่าง ๆ ที่ปรับใช้ก็จะเข้มข้นมากขึ้นไปด้วย องค์กรที่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการและการเปลี่ยนแปลงในบริบทของการรักษาสิ่งแวดล้อมย่อมได้เปรียบมากกว่าองค์กรที่ยังไม่เริ่มทำอะไร ทั้งในแง่ความพร้อมขององค์กร บุคคลากร และเครื่องมือ ทั้งยังเอื้อให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงโอกาสที่มากกว่าเมื่อโลกต้องเข้าสู่ช่วงเวลาที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถละเลยได้

Scroll to Top