ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน แม้ว่าทุกคนจะได้ยินคำนี้จนคุ้นเคยแล้ว แต่ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่จะสามารถวางใจได้ เพราะปัจจุบันโลกที่เราอาศัยอยู่แม้อุณภูมิจะเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส แต่สามารถสร้างความแปรปรวนให้กับพืช สัตว์ และมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับบริบทของภาวะโลกร้อนกันว่าแท้จริงแล้ว ภาวะโลกร้อนคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และปัจจัยใดบ้างที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น ตลอดจนผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปรากฏการณ์เรือนกระจกว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วเราจะมีส่วนมากน้อยแค่ไหนที่จะช่วยให้ภาวะโลกร้อนไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม

สภาวะโลกร้อน คืออะไร ?

สภาวะโลกร้อน คือ ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นโดยเป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) สะสมในชั้นบรรยากาศของโลก ตามมาด้วยอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

อย่างไรก็ตามบริบทของภาวะโลกร้อนมักมาคู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่จริงๆ แล้วทั้งสองสิ่งนี้มีความต่างกัน โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและยังหมายถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) หรือสภาพอากาศที่รุนแรงกว่าปกติ ตลอดจนครอบคลุมถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของจำนวนสัตว์ป่าและที่อยู่อาศัย การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน”

จะเห็นได้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นต้นตอที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและมีความรุนแรงกว่าปกติ ตั้งแต่น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า กระทบกับการดำรงชีวิต ตลอดจนข้าวของมีราคาแพงเพราะโลกร้อนทำลายห่วงโซ่อุปทาน อย่างกรณีของประเทศไทยภาวะโลกร้อนก็มีส่วนทำให้พืชผลทางการเกษตรบางชนิดขาดแคลน ผลกระทบที่ใกล้ตัวที่สุดคือจะมีคนบางกลุ่มที่ต้องประสบกับความอดยาก ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรบางชนิดก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้น

ภาวะโลกร้อนยังถือเป็นภัยคุกคามระดับโลกจนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกัน โดยตัวอย่างที่เด่นชัด คือ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไว้ที่ระดับต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากโลกไปถึงจุดที่อุณภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สิ่งที่ตามมาคือเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงผิดปกติมีโอกาสจะเกิดขึ้นบ่อยและเป็นอันตรายมากขึ้น

และความน่ากลัวของภาวะโลกร้อนคือ ปัจจุบันมันเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นจนยากจะรับมือ พร้อมกับที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติได้ประกาศว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” หรือ Global Boiling เพื่อให้ประชากรโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศของโลกเป็นเวลานับร้อยปี โดยภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างปี 1850-1900 ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์มีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส และคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030-2052

ขณะที่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยหลักๆ มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล  ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ และยังมาจากกิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่นการทำเกษตร การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะเห็นได้ว่ามนุษย์คือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น 

ตัวอย่างกิจกรรมของมนุษย์ที่มีส่วนทำให้โลกของเราร้อนขึ้น

1.การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล – การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่นน้ำมันดิบ ถ่านหินและก๊าซ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน เป็นตัวการทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก อย่างเช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและกักเก็บความร้อนของดวงอาทิตย์ไว้จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

2.การตัดไม้ทำลายป่า – เนื่องจากต้นไม้มีความสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศของโลกไม่ให้ร้อนจนเกินไปด้วยการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและเปลี่ยนเป็นออกซิเจน แต่มนุษย์ทำลายป่าด้วยเหตุผลมากมาย ทั้งเพื่อการเกษตร การพัฒนาเมือง หรือการตัดไม้เพื่อนำไปขาย และเมื่อป่าไม้หายไป คาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมไว้จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ก๊าซเรือนกระจกมากถึงหนึ่งในห้าของโลกล้วนมาจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ

3.การทำการเกษตร – ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลผลิตจากการเกษตร ได้แก่ ก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังต้องมีการถางพื้นที่เพื่อทำการเกษตร และจากข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี 2018 ที่รายงานโดย UNDP ยังระบุว่าภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 15.69% ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ปล่อนก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน

4.การขนส่ง – ปัจจุบันอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในทั่วโลกกว่า 25% นั้นมาจากภาคการขนส่ง โดยก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับยานพาหนะตั้งแต่รถยนต์ เรือ รถไฟ ไปจนถึงเครื่องบิน สำหรับยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 211 กรัม ต่อการเดินทาง 1 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย

5.การผลิตภาคอุตสาหกรรม – ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยจะมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการผลิตสินค้าและบริการอย่างเช่น การผลิตปูนซีเมนต์ เหล็ก อลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ตลอดจนการแปรรูปอาหารและสิ่งของต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน

ผลกระทบต่อโลกจากสภาวะโลกร้อน

ผลกระทบต่อโลกจากสภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้างไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบในระดับบุคคล เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์เรือนกระจกจะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งภาคพื้นดินและใต้ผืนน้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น คร่าชีวิตและทำลายทรัพย์สินของคนจำนวนมาก

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศหลายคนต่างเห็นตรงกันว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในระยะเวลาอันสั้นจะเกิดความเสียหายอย่างมากต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ ความเสียหายดังกล่าวรวมไปถึงการสูญพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นของพืชและสัตว์หลายชนิด และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซต่างๆ ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ทีนี้เรามาดูคุณสมบัติของก๊าซที่สำคัญในชั้นบรรยากาศกันว่าจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไรได้บ้าง

ก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจก หมายถึง ก๊าซในชั้นบรรยากาศที่มีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่ปล่อยออกมาจากพื้นผิวโลกและคลายกลับสู่พื้นผิวโลก ทำหน้าที่คล้ายกระจกที่ปกคลุมผิวโลกให้มีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกอีกอย่างว่าปรากฏการณ์เรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจกประกอบไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน โอโซน ไนตรัสออกไซด์ ไอน้ำ และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือสาร CFCs ที่นิยมใช้ในสารทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และกระป๋องสเปรย์ แต่ปัจจุบันถูกสั่งให้หยุดการผลิตและนำเข้าเพื่อปกป้องชั้นโอโซนตามข้อกำหนดภายใต้พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol)

ผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดที่เกิดต่อสภาพอากาศของโลกจะแตกต่างกัน ก๊าซบางชนิดมีความสามารถในการดูดซับรังสีอินฟราเรดสูง กลับกันก๊าซบางชนิดมีความสามารถในการดูดซับรังสีความร้อนน้อย ขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไอน้ำเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ก๊าซเรือนกระจกจะมีหน้าที่ทำให้อุณหภูมิโลกสมดุล แต่เมื่อก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินไปก็นำไปสู่ภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาที่มนุษย์ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ไอน้ำ

ก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดในชั้นบรรยากาศของโลกก็คือ ไอน้ำ แต่ไอน้ำจะต่างจากก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ ตรงที่ปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศโดยทั่วไปจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง แต่จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิอากาศ เพราะยิ่งอุณภูมิสูงอัตราการระเหยของน้ำสู่ชั้นบรรยากาศก็จะยิ่งมากขึ้น ซึ่งจะดูดซับรังสีความร้อนและคลายความร้อนสู่พื้นโลกทำให้โลกร้อนรุนแรงกว่าเดิม

มีเทน

ขณะที่มีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีคุณสมบัติที่ทำให้โลกร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เพราะมีโมเลกุลที่ดักจับความร้อนได้มากกว่า แต่มีเทนจะสะสมค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศในเวลาสั้นกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก

โดยระยะเวลาการคงอยู่ของมีเทนจะอยู่ที่ราว 10 ปี เทียบกับระยะเวลาหลายร้อยปีที่คาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ และการที่ก๊าซเรือนกระจกมีอายุสะสมเฉลี่ยยาวนานนั้นหมายความว่าจะสามารถดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้มาก เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทั้งยังทำให้ผิวโลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

กลับมาที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นรู้กันว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น โดยแหล่งที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีทั้งที่เกิดจากกลไกธรรมชาติอย่างการเผาไหม้และการย่อยสลายตามธรรมชาติของอินทรียวัตถุ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากธรรมชาติจะถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศได้อย่างสมดุล

ตรงข้ามกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งแต่ละปีมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 7 พันล้านตัน และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์นั้นยังมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะกำจัดได้หมด

“เทคโนโลยีสีเขียว” ตัวช่วยลดสภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันโลกของเราได้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอีกครั้ง เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาช่วยในกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือนำมาใช้ทดแทนเทคโนโลยีเดิมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น

การผลิตพลังงานทดแทน คือ การใช้เทคโนโลยีสำหรับผลิตพลังงานทดแทน เช่น โซล่าเซลล์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กังหันลมที่ใช้พลังงานลมสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนที่ใช้พลังงานน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งหมดนี้สามารถทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้
การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เซ็นเซอร์ปิดไฟอัตโนมัติเมื่อไม่มีคนอยู่ในห้อง หรือระบบอาคารที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการของเสีย คือ การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) และการใช้เทคโนโลยีในการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัด และลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทาง

ถึงเวลาแล้วที่เราควรให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

รายงานจากศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ NOAA National Centers for Environmental Information เผยว่าในปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในปี 1850 และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นอีกถ้ามนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจนเกินไปเช่นนี้

และยิ่งไปกว่านั้นอากาศที่ร้อนจัดยังเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยมีรายงานว่าในช่วงปี 2000-2019 มียอดผู้เสียชีวิตจากความร้อนอยู่ที่ประมาณ 489,000 รายต่อปี และหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียสอาจทำให้ GDP หายไปมากถึง 18% ภายในปี 2050 ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

เห็นได้ชัดว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาไกลตัวอีกต่อไป เพราะยิ่งความรุนแรงของโลกร้อนมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะได้รับผลกระทบที่หนักมากตามไปด้วย แต่ก่อนที่ความเสียหายต่อโลกจะเกิดมากไปกว่านี้ เราทุกคนมีหน้าที่ช่วยกันลดพฤติกรรมที่เป็นการทำลายโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับประชาชนไปจนถึงองค์กร ตลอดจนภาครัฐที่ต้องกำหนดนโยบายอย่างเด็ดขาดก่อนที่โลกของเราจะเสียหายมากไปกว่านี้

สรุป

สุดท้ายแล้วต้นตอของภาวะโลกร้อนก็มาจากมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งมีปริมาณมากจนสะสมในชั้นบรรยากาศและกลายเป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่ากิจกรรมต่างๆ ก็ต้องดำเนินต่อไป แต่ทุกคนมีหน้าที่เพิ่มเข้ามาคือการที่ต้องรับผิดชอบโลกของเราร่วมกันโดยไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง

Scroll to Top